วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556



ซื้อขาย คือ สัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า "ผู้ขาย" โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สิน ให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า"ผู้ซื้อ"โดยผู้ซื้อได้ใช้ราคาทรัพย์นั้นเป็นเงินให้แก่ผู้ขายเป็น การตอบแทน

ลักษณะของสัญญาซื้อขาย
                สัญญาซื้อขาย เป็นเอกเทศสัญญาอย่างหนึ่ง หมายถึง นิติกรรมสัญญาที่กฎหมายได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะกำหนดรูปแบบ สาระสำคัญ กำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างคู่กรณี และ การระงับ แห่งสัญญา กฎหมายให้เสรีภาพแก่ประชาชนแต่ละคนที่จะเข้าทำนิติกรรมสัญญาใดๆ ก็ได้ภายใต้ การคุ้มครองของกฎหมายหลักในบรรพ 1-2 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ นิติกรรม สัญญานั้นย่อมสมบูรณ์มีผล ใช้บังคับได้หาก ไม่ขัดบทบัญญัติ แห่งกฎหมาย เช่น กรณีเจ้าของที่ดิน สองคนซึ่งมีที่ดินติดต่อกัน ต่างคนทำสัญญาไว้ต่อกันว่าจะสร้างบ้านอยู่อาศัยในที่ดินจะไม่สร้าง โรงงาน หรือ โรงแรมให้เป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ดังนี้ย่อมเกิดเป็นสัญญา อย่างหนึ่งและ  มีผลบังคับกันได้ตามกฎหมายสัญญาซื้อขาย เป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งซึ่งมีคู่กรณี ที่เกี่ยวข้องสองฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ขาย  และ ฝ่ายผู้ซื้อ  โดยที่ฝ่ายผู้ขายโอนกรรม สิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่ซื้อ
ขาย ให้แก่ผู้ซื้อแต่ผู้ซื้อตกลงจะใช้ราคาทรัพย์นั้นให้แก่ผู้ขาย
ลักษณะของสัญญาซื้อขายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติเรื่องสัญญา ซื้อขายไว้ในบรรพ 3 ลักษณะ 1 เริ่มตั้งแต่มาตรา 453 ถึง มาตรา 517 ซึ่งครอบคลุมถึงสัญญาซื้อขายธรรมดาและ สัญญาซื้อขาย เฉพาะบางอย่าง ซึ่งได้แก่ สัญญาขายฝาก สัญญาขายตามตัวอย่างขายตามคำพรรณนาขาย เผื่อชอบ และขายทอดตลาดมาตรา 453   “อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญา ซึ่ง บุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง  เรียกว่า ผู้ซื้อ และ  ผู้ซื้อตกลงว่า ใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขายมีลักษณะสำคัญดังนี้
       1. สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งมีคู่กรณีที่เกี่ยวข้องสองฝ่ายคือ ฝ่ายหนึ่ง
          ที่เรียกว่า  “ผู้ขาย”   และอีกฝ่ายหนึ่งที่เรียกว่า   “ผู้ซื้อ”   มาตกลงทำสัญญากัน
       2. สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาที่ฝ่ายผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่ซื้อขายให้แก่ผู้ซื้อ
          ในสัญญาซื้อขายนั้น   ผู้ขายมีหน้าที่ผูกพันตนที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ตกลงซื้อ
           ขายกัน
       3. สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาที่ฝ่ายผู้ซื้อตกลงจะใช้ราคาทรัพย์สินให้แก่ผู้ขาย คำว่า   “ราคาในที่นี้คงหมายถึง เงินตราที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อาจจะเป็นเงินของไทยหรือเงินสกุลอื่นได้ เพราะสามารถแลกเปลี่ยน ตามอัตรา ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายวัน
คำว่า ตกลงจะใช้ราคาย่อมหมายความว่า ในการทำสัญญาซื้อขายกันนั้น เมื่อผู้ซื้อ   และ  ผู้ขายตกลงเพียงว่า  “จะ”  ใช้ราคาทรัพย์สิน สัญญาซื้อขายก็เกิดขึ้นแล้ว แม้จะยังไม่ได้ กำหนดราคาเป็นที่แน่นอนก็ตาม และ  ย่อมมีผลผูกพันกันตามกฎหมายที่จะเรียกร้อง ให้ชำระราคา กันในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้


สัญญาจะซื้อขาย
ลักษณะของสัญญาจะซื้อขาย
                สัญญาจะซื้อขายเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องมีคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกันสัญญาจะซื้อขายจึงจะเกิดขึ้นและมีผลผูกพันคู่กรณีทั้งสองฝ่าย สัญญาจะซื้อขายต่างจากคำมั่นจะซื้อหรือจะขายตรงที่คำมั่นจะซื้อหรือจะขายเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวมีผลผูกพันเฉพาะฝ่ายให้คำมั่นเท่านั้น แต่สัญญาจะซื้อขายเป็นนิติกรรมสองฝ่ายเพราะเป็นสัญญาและผีผลผูกพันคู่กรณีทั้งสองฝ่าย
                สัญญาจะซื้อขายเป็นสัญญาซึ่งคู่กรณีมีข้อตกลงว่าจะไปทำสัญญาซื้อขายให้เสร็จสมบูรณ์ต่อไป สัญญาจะซื้อขายจึงมีได้แต่เฉพาะทรัพย์ที่ระบุไว้ในมาตรา 456 วรรคแรก คืออสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษได้แก่ เรือกำปั่นหรือเรือมีระวางหกตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์มีระวางห้าตันขึ้นไป แพและสัตว์พาหนะ เพราะทรัพย์เหล่านี้กรรมสิทธิ์จะโอนไปต่อเมื่อได้ไปทำตามแบบคือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การทำความตกลงซื้อขายกันเองสำหรับทรัพย์ดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นสัญญาซื้อขายที่เสร็จสมบูรณ์ได้ จะเป็นไปได้เพียงสัญญาจะไปทำสัญญาซื้อขายให้เสร็จสมบูรณ์โดยการไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในภายหลัง ซึ่งก็คือสัญญาจะซื้อขายนั่นเอง
                ส่วนทรัพย์อื่นๆ คือทรัพย์นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 456 วรรคแรก คู่กรณีอาจตกลงโอนกรรมสิทธิ์กันได้เอง เพราะกฏหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำตามแบบคือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้นจึงไม่เปิดช่องให้ทำสัญญาจะซื้อขายหรือมีข้อตกลงว่าจะไปทำสัญญาซื้อขายในภายหลังได้และถึงแม้คู่กรณีจะมีข้อตกลงหน่วงเหนื่ยวกรรมสิทธิ์โดยเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาอย่างไรก็เป็นสัญญาที่มีผลผูกพันอยู่ในตัว กรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลานั้นเองโดยไม่ต้องไปตกลงทำสัญญากันใหม่ ดังนั้นจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาแต่ไม่ใช่สัญญาจะซื้อขาย
               
 การเปรียบเทียบชนิดของสัญญาซื้อขาย
        สัญญาซื้อขายมี 2 ชนิด ด้วยกัน คือ
        1. สัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด คือ สัญญาที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโอนไปยังผู้ซื้อทันทีอย่างเด็ดขาด เมื่อการซื้อขายสำเร็จ บริบูรณ์ การซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์เมื่อใดนั้น นอกจากการตกลงแล้ว ต้องทำตามแบบที่ กฎหมายกำหนดอีกด้วย
        2. สัญญาจะซื้อจะขาย คือ สัญญาที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อ ใน ขณะที่ทำสัญญาซื้อขายกัน แต่เป็นสัญญาซึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ ในเวลาภายหน้า เป็นการแลกเปลี่ยนกับเงินอันเป็นราคาของทรัพย์สินนั้น มีผลผูกพันให้แก่คู่ สัญญาต้องทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไป

ข้อสังเกต
                สัญญาจะซื้อขายมีข้อตกลงในสาระสำคัญดังนี้
                1.มีข้อตกลงซื้อขายทรัพย์สินที่แน่นอน โดยผู้ขายตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้ผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงจะใช้ราคาทรพย์สินให้แก่ผู้ขาย
                2.เป็นข้อตกลงซื้อขายทรัพย์ประเภทที่จะต้องไปทำตามแบบเพื่อให้กรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินโอนไปยังผู้ซื้อซึ่งหมายถึงทรัพย์ที่ระบุไว้ในมาตรา 456 วรรคแรก
                3.มีข้อตกลงว่า ผู้ขายจะไปดำเนินการตามแบบเพื่อให้กรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินนั้นโอนไปยังผู้ซื้อในภายหลัง ดังนั้นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจึงยังมิได้โอนไปยังผู้ซื้อในขณะทำสัญญา 


อ้างอิงแหล่งที่มา
สุพจน์ กู้มานะชัย. ถาม ตอบ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ : พิมพ์ครั้งแรก : กทม: นิติธรรม,..2543
วิษณุ เครืองาม. คำอธิบาย กฎหมายว่าด้วยการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ : พิมพ์ครั้งที่ .7:กทม: เนติบัณทิตไทย, พ.ศ. 2540
สมยศ เชื้อไทย. หลักกฎหมาย ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ : พิมพ์ครั้งที่ .5 :กทม.: วิญญูชน, พ.ศ. 2543
อำพน เจริญชีวินทร์. กฎหมายลํกษณะซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ : พิมพ์ครั้งที่ .2 :กทม.: นิติธรรม, พ.ศ.2545  
หลักฐานการฟ้องร้องตามสัญญาซื้อขาย. (2555). กรุงเทพฯ:คลีนิกทนายความ. สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2556 จาก http:// www.fpmconsultant.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น